“สหรัฐฯ” จำเป็นต้องหันมาเผชิญความจริง –จะปกป้อง “ไต้หวัน” จากการบุกยึดของ “จีน” ไหม และจะปกป้องยังไง?

ข่าวต่างประเทศ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US needs to get real on Taiwan defense plans
by Daniel Williams
08/10/2021

ถึงแม้จีนยังคงอยู่ห่างไกลเมื่อเปรียบเทียบกับสมรรถนะทางการทหารของสหรัฐฯโดยองค์รวมในปัจจุบัน แต่จีนนั้นไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไล่ตามให้ทันเลย เมื่อต้องการจะท้าทายสหรัฐฯที่ไต้หวัน ซึ่งอยู่ตรงบริเวณแค่เลยจากชายขอบของจีนออกไปหน่อยเดียว

การที่จีนกำลังเป็นเสมือนปีศาจร้ายซึ่งจะกระโจนเข้าสู่สงครามเพื่อบังคับไต้หวันให้ยอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นสิ่งที่บังคับให้สหรัฐฯ ในฐานะหัวหน้าผู้สนับสนุนไต้หวันทั้งทางการทูตและทางการทหาร ต้องหันเข้าสู่ความเป็นจริง

วอชิงตันจำเป็นต้องยอมรับว่ามีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จีนอาจจะประสบความสำเร็จ และดังนั้นจึงต้องมุ่งโฟกัสไปยังคำถามที่ว่าจะพิทักษ์ปกป้องเกาะที่ปกครองแบบประชาธิปไตยแห่งนี้หรือไม่ และจะปกป้องด้วยวิธีการใด

การตรึงจีนให้อยู่ห่างเอาไว้ กลายเป็นเรื่องสลับซับซ้อนและลำบากยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ พวกนักวิเคราะห์ทางทหารของสหรัฐฯยอมรับกันเช่นนี้ ขณะที่จีนสร้างสมแสนยานุภาพและยกระดับกองทัพของตนให้ทันสมัยมาโดยตลอดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ความเข้มแข็งยิ่งขึ้นบางอย่างบางประการในทางการทหารของจีน มีจุดมุ่งหมายอันเฉพาะเจาะจงในการบีบบังคับไต้หวัน และกระทั่งในการรุกรานไต้หวัน เพื่อทำให้เกาะแห่งนี้ต้องยินยอมเข้าสู่การปกครองของปักกิ่ง นอกจากนั้นแล้ว จีนยังต้องการทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือไต้หวันได้ทันกาล

“กองทัพปลดแอกประชาชนจีนน่าที่จะกำลังเตรียมการสำหรับรับเหตุการณ์ซึ่งอาจเป็นไปได้ในการรวมไต้หวันเข้าเป็นเอกภาพกับแผ่นดินใหญ่ด้วยการใช้กำลัง เวลาเดียวกันนั้นก็ดำเนินการป้องปราม, ชะลอ, หรือปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายที่สามใดๆ เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือไต้หวัน” รายงานชิ้นหนึ่งของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐฯ (US Defense Intelligence Agency) ระบุเอาไว้เช่นนี้

ช่วงเวลาเดียวกับที่จีนปรับปรุงยกระดับด้านการทหารของตนนั้นเอง สหรัฐฯกลับต้องติดหล่มอยู่ในสงครามครั้งต่างๆ และในพวกโครงการสร้างชาติ (ให้คนอื่น เช่น อัฟกานิสถาน, อิรัก -ผู้แปล) ซึ่งทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและไม่จบไม่สิ้นเสียที ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เหมือนกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเขานั่นแหละ กำลังพยายามที่จะตัดทอนภาระเหล่านี้ลงไปบางส่วน และหันมาโฟกัสเน้นหนักอยู่ที่จีน

เมื่อปี 1948 ณ ตอนปลายสงครามกลางเมืองของจีน ไต้หวัน ในฐานะเป็นดินแดนผืนสุดท้ายที่ยังอยู่นอกการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ถือได้ว่ามีความสำคัญน้อยนิดที่สุดต่อปักกิ่ง ทว่าจีนไม่ได้ท้าทายสหรัฐฯด้วยเรื่องไต้หวันนี้เพียงเรื่องเดียวหรอก รวมทั้งในเวลาที่ประเทศทั้งสองเข้าสู่การแข่งขันกันในระดับโลกอยู่ในเวลานี้ ความขัดแย้งกันทางทหารก็ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของความเป็นปรปักษ์กันซึ่งกำลังแตกหน่อเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ

(สงครามกลางเมืองของจีนที่ผู้เขียนระบุถึงนี้ คือ สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดย เหมา เจ๋อตง กับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง หรือก็คือพรรคชาตินิยม นำโดย เจียง ไคเช็ก ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ย่อยยับของ เจียง จึงได้ยกกำลังส่วนหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ อพยพไปตั้งหลักที่ไต้หวัน โดยยังคงใช้นามประเทศว่าสาธารณรัฐจีน อีกทั้งยังคงอ้างว่าตนเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียวของจีนทั้งประเทศ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_Civil_War -ผู้แปล)

“การแข่งขันกันระหว่างสองประเทศนั้น มีทั้งทางด้านพลเรือนและทางด้านการทหาร โดยอยู่ในขอบเขตทั่วโลกมากกว่าที่จะรวมศูนย์อยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งเดียวอย่าง ไต้หวัน หรือ ทะเลจีนใต้ เท่านั้น” นี่เป็นข้อคิดเห็นที่ระบุอยู่ในร่างรายงานฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดย ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) องค์กรคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน, สหรัฐอเมริกา

ร่างรายงานของ CSIS บอกว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้น “บ่อยครั้งทีเดียวเป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางทหารและทางพลเรือนซึ่งก้าวเลยเอเชียไปไกล –และเป็นการแข่งขันซึ่งความสามารถของแต่ละชาติในการสร้างอิทธิพลและในการป้องปราม อาจจะมีความสำคัญยิ่งเสียกว่าความสามารถในการสู้รบของแต่ละชาติเสียอีก”

อย่างไรก็ตาม สำหรับชั่วขณะนี้ (หมายถึงตอนต้นเดือนตุลาคมนี้ -ผู้แปล) ไต้หวันคือศูนย์กลางของความสนใจ ท้องทะเลและน่านฟ้ารอบนอกชายฝั่งของเกาะแห่งนี้กำลังกึกก้องด้วยเสียงคำรามของการใช้กำลังข่มขู่คุกคาม เจ้าหน้าที่ในวอชิงตันผู้หนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ให้ออกนามกล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยที่เขายังพูดในทางยืนยันเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่า หน่วยรบพิเศษสหรัฐฯกำลังแสดงบทบาทช่วยฝึกอบรมกองทหารไต้หวัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/10/us-acknowledges-special-forces-training-taiwanese/)

ระหว่างช่วง 4 วันของสุดสัปดาห์ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวาระเฉลิมฉลองบนแผ่นดินใหญ่ในโอกาสครบรอบการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองด้วยชัยชนะของปักกิ่งนั้น เครื่องบินไอพ่นกองทัพอากาศจีนประมาณ 150 ลำทีเดียวถูกส่งไปบินเฉียดใกล้ไต้หวัน

จีนนั้นมีการเคลื่อนกำลังทางเรือและทางอากาศจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าไปใกล้และเลยผ่านไต้หวันอยู่เป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย รวมทั้งยังสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารในพื้นที่ทะเลจีนใต้ซึ่งจีนประกาศเองให้เป็นเขตจำเพาะทางทะเล โดยที่รวมเอาไต้หวันเข้าไว้ด้วย

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ของจีน ซึ่งมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย และมีแนวทางการเสนอข่าวและทัศนะความเห็นแบบท้าตีท้าต่อยนั้น ออกมากล่าวเตือนเสียงเข้มว่า “สงครามอาจจะถูกจุดชนวนขึ้นมาในเวลาไหนก็ได้”

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทสสหรัฐฯเรียกการที่จีนส่งเครื่องบินไอพ่นบินเฉียดไต้หวันคราวนี้ว่าเป็น ความเคลื่อนไหว “ในทางยั่วยุ” ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิด “การคาดคำนวณผิด” ต่อมาในวันพุธที่ 6 ตุลาคม เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ได้พบปะเจรจากับ หยาง เจียฉือ (Yang Jiechi) เจ้าหน้าที่ด้านการทูตที่มีอาวุโสที่สุดของ สี ในเมืองซูริก, สวิตเซอร์แลนด์

ในวันเดียวกันนั้น ไบเดนได้หยิบยกการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 9 กันยายน ระหว่างเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งผู้นำทั้งสองได้กล่าวย้ำยืนยันอีกครั้งถึงข้อตกลงเก่าระหว่างสองประเทศเมื่อ 40 ปีก่อนที่ระบุว่า จีนนั้นมีเพียงจีนเดียว และจีนปกครองโดยปักกิ่ง

แต่ในการตั้งข้อสังเกตอย่างคลุมเครือเกี่ยวกับการพูดคุยทางโทรศัพท์คราวนั้น ไบเดนไม่ได้อ้างอิงใดๆ ถึงส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งก็คือ การรวมไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนนั้นควรที่จะกระทำกันโดยสันติวิธี โฆษกของไบเดนยังออกมาพูดในเวลาต่อมาว่า เขาวางแผนจะพบเจรจากับ สี ทางวิดีโอคอลล์ในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีนี้

นโยบายทางการทหารของสหรัฐฯช่วงหลังๆ มานี้บ่งชี้ให้เห็นว่า กำลังมีการเตรียมการเอาไว้ไม่เฉพาะที่จะพูดจากับจีนเท่านั้น แต่ยังจะประจันหน้ากับปักกิ่งอีกด้วย เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง สหรัฐฯและสหราชอาณาจักรได้เปิดตัวข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงอันใหม่กับออสเตรเลีย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะป้องปรามสิ่งที่ทั้งสามชาติมองเห็นเข้าใจกันว่าเป็นภัยคุกคามจากจีน โดยเรื่องที่สามชาติเห็นชอบและดำเนินการกันตั้งแต่แรกๆ เลยตามข้อตกลงใหม่นี้ ก็รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้แก่แดนจิงโจ้

ไบเดนยังสืบต่อนโยบายของอเมริกันที่คัดค้านการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้ ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปในพื้นที่เช่นว่านั้นอยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งยังอนุมัติการขายอาวุธใหม่ๆ ให้แก่ไต้หวันอีกด้วย

แต่ถึงแม้วอชิงตันมีกิจกรรมแสดงท่าทีพร้อมท้าตีท้าต่อยเช่นนี้แล้ว ไต้หวันก็ยังร้อนอกร้อนใจต้องการทราบอยู่ดีว่า การพูดคุยระหว่างสีกับไบเดนครั้งนั้นมีการส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงการทอดทิ้งไต้หวันหรือเปล่า ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันได้โทรศัพท์ไปหาประธานาธิบดีไบเดน แล้วจากนั้นจึงออกมาแถลงแสดงความพึงพอใจว่า นโยบายของสหรัฐฯ “ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ความหมายของคำว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” นี้ มีเจตนาที่จะทำให้ดูเป็นปริศนาไร้ความชัดเจน ทั้งนี้เป็นการเดินตามนโยบายซึ่งมีมานานของฝ่ายอเมริกัน ในเรื่องที่จะทำให้นโยบายเกี่ยวกับไต้หวันของตน เป็น “ความคลุมเครือกำกวมในทางยุทธศาสตร์” ทำให้ทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ต้องคอยเฝ้าเดาเอาว่ามันจะเป็นอย่างไรกันแน่

จากสภาพเช่นนี้ ในอีกด้านหนึ่งแล้วพวกผู้วางแผนทางการทหารของสหรัฐฯยังคงมีความกระตือรือร้นอย่างชัดเจน ที่ต้องการทราบว่าจีนตระเตรียมอะไรเอาไว้บ้างสำหรับไต้หวัน เป็นการเผื่อๆ เอาไว้สำหรับการรับมือ

ในรายงานว่าด้วยจีนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องส่งให้รัฐสภาเป็นประจำทุกที ฉบับของเมื่อปีที่แล้ว ทางกระทรวงตั้งข้อสังเกตอย่างเจาะจงว่า เมื่อปี 2005 ปักกิ่งได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่า สามารถที่จะใช้ “วิธีการแบบไม่สันติ” กับไต้หวันได้ด้วย ถ้าหาก “พลังต่างๆ … ทำให้เกิดข้อเท็จจริง” ขึ้นมาว่า มีการแบ่งแยกดินแดน หรือว่าทำให้ “ความเป็นไปได้สำหรับการรวมเข้าเป็นเอกภาพอย่างสันติ” หมดสิ้นไม่เหลือหลอแล้ว

รายงานฉบับนั้นได้ระบุรายการต่างๆ ซึ่งอาจเป็นชนวนเหตุยั่วยุให้จีนใช้ปฏิบัติการทางทหาร เป็นต้นว่า การที่ไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ หรือมีความเคลื่อนไหวบางอย่างบางประการซึ่งบ่งบอกว่ากำลังจะมีการแบ่งแยกดินแดน, ความล้มเหลวในการเจรจาเกี่ยวกับการรวมประเทศให้เป็นเอกภาพกันในท้ายที่สุด ภายหลังผ่านช่วงระยะเวลาที่ยาวนานช่วงหนึ่ง ทว่าช่วงเวลาที่ว่านี้นานเท่าใดแน่นั้นไม่เป็นที่แน่ชัด , การเกิดความไม่สงบปะทุขึ้นมาภายในไต้หวัน, การที่ไต้หวันเข้าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์, การที่ต่างชาติเข้าแทรกแซงไต้หวัน หรือกองกำลังของต่างชาติเข้าไปตั้งฐานในไต้หวัน

ในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นอันไหนที่เกิดขึ้นมา ปักกิ่งอาจออกคำสั่งให้ดำเนินปฏิบัติการทางทหารในระดับต่างๆ หลายหลาก ทั้งแบบเดี่ยวๆ และแบบมีหลายๆ อย่างผสมผสานกัน เพื่อบังคับให้ไต้หวันต้องยอมเจรจาหรือยอมแพ้ จีนสามารถที่จะปิดล้อมไม่ให้เรือเข้าออกท่าเรือต่างๆ ของไต้หวัน ตลอดจนห้ามการสัญจรทางอากาศเพื่อบีบคั้นการนำเข้าและการส่งออก กองทัพของจีนสามารถที่เข้าร่วมหนุนเสริมการปิดล้อมเหล่านี้ ด้วยการรุกรานพวกเกาะต่างๆ ที่อยู่รอบนอกของไต้หวัน เพื่อเป็นการส่งข้อความว่า เกาะแห่งหลักซึ่งก็คือเกาะไต้หวันนั้นจะตกเป็นเป้าหมายต่อไป

จีนยังสามารถที่จะเข้าโจมตีพวกโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งพวกเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายกระแสไฟฟ้า ตลอดจนพวกอาคารสถานที่ทางการทหารและอาคารสถานที่ของรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิด “ความสงสัยข้องใจ” ในคณะผู้นำของเกาะแห่งหนี้ อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าการต่อต้านเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกล่าว

การส่งกำลังเข้ารุกรานจากทางทะเลโดยตรง ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่เป็นไปได้เช่นกัน ทั้งนี้จีนได้ปรับปรุงยกระดับความสามารถของตนขึ้นมามาก ในการดำเนิน “การปฏิบัติร่วมที่มีความสลับซับซ้อน” อย่างเช่นการยกพลขึ้นบกด้วยยานสะเทินน้ำสะเทินบก

พวกนักวิจัย ณ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (National Defense University) ของจีน กำลังพิจารณาไตร่ตรองความเป็นไปได้ที่จะส่งกำลังทหารและวัสดุต่างๆ ลงไปยังท่าเรือใหญ่ๆ ของไต้หวันกันเลยทีเดียว แทนที่จะลงไปตามหาดต่างๆ ของไต้หวัน ซึ่งนอกจากขึ้นชื่อเรื่องพื้นที่แคบแล้ว ส่วนใหญ่แล้วหาดเหล่านี้ยังมักอยู่ติดกับหน้าผาสูงๆ

ตามข้อมูลของ “สถาบันโครงการปี 2049” (the 2049 Project Institute) องค์กรคลังสมองที่มุ่งศึกษาประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จีนกำลังมีการตระเตรียมเพื่อที่จะลำเลียงทหารจำนวนมากๆ จากจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามช่องแคบไปยังเกาะไต้หวัน

ในปี 2016 ตามอำนาจในกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “กฎหมายการขนส่งเพื่อการป้องกันชาติ” (National Defense Transportation Law) ปักกิ่งกำหนดให้การขนส่งภาคเอกชนทุกๆ อย่าง ต้อง “ออกแบบ, สร้าง, และบริหารจัดการ” เพื่อให้ฝ่ายทหารของจีนสามารถนำมาใช้งานได้ในยามสงคราม ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบันโครงการ 2049

กฎหมายฉบับนี้ เป็นการเพิ่มเรือจำนวนราว 2,000 ลำ และบุคลากรทางด้านพาณิชย์นาวีหลายหมื่นคนในสังกัด ไชน่า โอเชียน ชิปปิ้ง คอมพานี (China Ocean Shipping Company หรือ COSCO) บริษัทเดินเรือทะเลยักษ์ใหญ่ของจีน เข้าไปในบัญชีกิจการภาคเอกชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพรักพร้อมสำหรับการรับภาระหน้าที่ทางด้าน “กิจการทางทหาร-ทางพลเรือนผสมผสานกัน” ทั้งนี้เรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่นั้นสามารถใช้ขนส่งทั้งวัสดุ, กองทหาร, หรือเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดหนักได้ ในทันทีที่สามารถควบคุมท่าเรือให้มีความมั่นคงปลอดภัยแล้ว

จีนยังกำลังขยายพวกหน่วยสะเทินน้ำสะเทินบกของตน เพื่อเอาไว้ขนย้ายเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการใช้ในเวลายกพลขึ้นบกในลักษณะสะเทินน้ำสะเทินบก อย่างไรก็ดี เนื่องจากการรุกรานไต้หวันแบบเต็มขั้นเต็มระดับมีหวังน่าจะก่อให้เกิดการต่อต้าน และสร้าง “ความเสี่ยงทางการเมืองและทางการทหารอย่างสำคัญ” ตอนแรกสุดจีนจึงอาจจะพยายามทดลองโจมตีหมู่เกาะจินเหมิน (Kinmen) และหมู่เกาะหมาจู่ (Matsu) ซึ่งทั้งสองแห่งนี้มีขนาดเล็กและตั้งอยู่ชิดกับแผ่นดินใหญ่ รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯคาดคะเน

ครั้งหนึ่งไต้หวันเคยมีความเหนือกว่าจีนในด้านการทหารทั้งแง่ของจำนวนและแง่ของคุณภาพ ทว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว “ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ดุลยภาพทางทหารระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนกับไต้หวันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่กองทัพปลดแอกฯเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยองค์รวม และการนำหน้าเช่นนี้ก็ถ่างกว้างขึ้นทุกทีในแต่ละปีที่ผ่านไป” กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเขียนเอาไว้เช่นนี้เมื่อปี 2020

ตัวอย่างเช่น ในปี 2007 จำนวนของเครื่องบินขับไล่ระดับล้ำสมัยซึ่งมีอยู่ในคลังแสงของจีนและของไต้หวัน อยู่ในระดับพอๆ กัน นั่นคือประมาณฝ่ายละ 300 ลำ แต่พอถึงปี 2020 จีนมีเพิ่มพุ่งพรวดขึ้นเป็นราวๆ 1,100 ลำ เปรียบเทียบกับไต้หวันซึ่งยังคงมีประมาณ 300 ลำ

ในสภาพที่มีความด้อยกว่าทางการทหาร แล้วยังถูกจีนข่มขู่คุกคามไม่ขาดสาย พวกเจ้าหน้าที่ไต้หวันเลือกที่จะแสดงท่าทีท้าทาย พร้อมกับมีความตื่นตัวระมัดระวัง “ดิฉันขอเตือนทางการปักกิ่งให้ใช้ความบันยะบันยังให้จงหนัก และหลีกเลี่ยงการกระทำทั้งหลายที่อาจกลายเป็นการจุดประกายให้เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นมา” ประธานาธิบดีไช่ ของไต้หวัน กล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม

ขณะที่ รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวัน ชิว กั๋วเฉิง (Chiu Kuo-cheng) เรียกความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันในเวลานี้ว่า “มีความร้ายแรงที่สุด” ในรอบ 40 ปี เขาทำนายด้วยว่าจีนจะมีศักยภาพในการดำเนินการรุกรานไต้หวัน “อย่างเต็มขั้นเต็มขนาด” ภายในปี 2025

“สำหรับผมแล้วในฐานะที่เป็นชายชาติทหาร ความเร่งด่วนคือสิ่งที่มาถึงอยู่ตรงหน้าของผมเรียบร้อยแล้ว” เขาบอกกับคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภานิติบัญญัติไต้หวันเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม “ภายในปี 2025 จีนจะสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายและอัตราความสึกหรอลงไปสู่ระดับต่ำที่สุดที่ตนจะทำได้ จีนนั้นมีศักยภาพอยู่แล้วในเวลานี้ แต่จะยังไม่เริ่มสงครามขึ้นมาอย่างง่ายดาย โดยยังต้องนำเอาสิ่งอื่นๆ อีกมากมายมาพิจารณาด้วย”

พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวอเมริกัน ก็แสดงความสงสัยข้องใจว่า สหรัฐฯสามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันในทางการทหารได้หรือ แดเนียล เดวิส (Daniel Davis) ซึ่งเป็นทั้งนักวิเคราะห์ทางการทหารและนักเขียน กล่าวเย้ยหยันการที่ วอลล์สตรีทเจอร์นัล เรียกร้องให้คณะบริหารไบเดน” ทำให้เป็นที่ชัดเจน” ว่าสหรัฐฯจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน

“เกาะแห่งนั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งของจีน 100 ไมล์ แต่อยู่ห่างจากชายฝั่งของเรา 6,000 ไมล์ อำนาจในการสู้รบของจีนเวลานี้รวมศูนย์อยู่ที่ตรงนั้น ขณะที่ของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก จงอย่าเข้าสู้รบในสงครามที่ไม่มีทางชนะ!” เดวิส ทวิตเช่นนี้ในวันที่ 7 ตุลาคม

สำหรับ เดวิด โอชมาเนค (David Ochmanek) นักวิจัยผู้หนึ่งของบริษัทแรนด์ คอร์เปอเรชั่น (Rand Corporation) พูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วว่า “ฝ่ายจีนไม่จำเป็นต้องทำให้สหรัฐฯพ่ายแพ้ในทางการทหารอย่างรอบด้านหรอก” เขาชี้ว่า “ถ้าหากวัตถุประสงค์ของพวกเขาคือการรุกรานย่ำยีไต้หวันแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ในทางหลักการแล้วสามารถบรรลุได้ภายในระยะเวลาที่จำกัด ในระดับที่หน่วยเวลาเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์”

ในปี 2017 พวกนักวิจัยของแรนด์เคยชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จีนยังคงอยู่ห่างไกลจากความทัดเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับสมรรถนะทางการทหารของสหรัฐฯโดยองค์รวมในปัจจุบัน แต่จีน “ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องไล่ให้ทันเลย เมื่อต้องการจะท้าทายสหรัฐฯตรงบริเวณแค่เลยจากชายขอบของจีนออกไปหน่อย”

“พวกผู้สังเกตการณ์ชาวจีนจำนวนมากเสนอแนะว่า การใช้ขีปนาวุธถล่มโจมตีฐานทัพอากาศแห่งต่างๆ จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดฉากระดมยิงเปิดหัวของสงครามเช่นนี้” รายงานดังกล่าวของ แรนด์ บอก

เวลานี้ ความพยายามของจีนในการข่มขู่กรรโชก อย่างเช่นการส่งฝูงไอพ่นบินเฉียดใกล้ และการรณรงค์เพื่อทำให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยวไม่อาจเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ (ถ้าหากไม่ยอมอ่อนข้อละทิ้งชื่อเรียกขาน ซึ่งปักกิ่งเห็นว่าเป็นการละเมิดหลักการจีนเดียว -ผู้แปล) ยังคงอยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจบังคับประเภทซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดเสียงโกรธเกรี้ยวไม่พอใจขึ้นในนานาประเทศ จนมากเพียงพอที่จะกระตุ้นการรณรงค์ตอบโต้เพื่อแทรกแซงคว่ำบาตรการแผ่ขยายทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกของปักกิ่ง

ดังนั้น ฝีก้าวอย่างอื่นๆ ที่ถือได้ว่ามีความเข้มข้นรุนแรงอยู่ในระดับต่ำ ก็อาจจะเกิดผลทำนองเดียวกันนี้ ตัวอย่างของฝีก้าวเช่นว่านี้ มีอาทิ การก่อวินาศกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งกลุ่มเรือประมงรุกเข้าไปใกล้ๆ ชายหาดของไต้หวัน กระทั่งการส่งกำลังทางเรือเข้าปิดล้อม โดยเฉพาะถ้าหากทำแบบเป็นระยะเวลาชั่วคราว ก็อาจไม่ถูกถือว่าเป็นพฤติการณ์สงครามชนิดซึ่งเร่งให้สหรัฐฯต้องมีมาตรการตอบโต้

และถ้าหากว่า สี ถึงขั้นตัดสินใจที่จะส่งกำลังเข้ารุกโจมตีไต้หวันแล้ว เขาก็จำเป็นต้องมีความแน่ใจในสิ่งต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้นว่า การบุกเช่นนั้นจะต้องไม่ใช่ทำอย่างหยาบๆ ลวกๆ จนกลายเป็นความผิดพลาด โดยที่ฝ่ายจีนเกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักหน่วง, สหรัฐฯต้องไม่สามารถดำเนินการโจมตีตอบโต้อย่างประสบความสำเร็จ หรือจะให้ดีกว่านั้นอีกก็คือ สหรัฐฯไม่ทำอะไรเลยด้วยความหวาดกลัวจะเกิดสงครามนิวเคลียร์, และการสำแดงกำลังอย่างโหดเหี้ยมดุดันเช่นนี้ จะต้องไม่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของจีนต้องเสียหายไปจนถึงระดับที่กลายเป็นคนเลวทรามซึ่งสังคมของภูมิภาคและของทั่วโลกมีความรังเกียจ และสร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จีนมีอยู่กับนานาประเทศ

แดเนียล วิลเลียมส์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้กับ วอชิงตันโพสต์, ลอสแองเจลิสไทมส์, และ ไมอามีเฮรัลด์ รวมทั้งเคยเป็นนักวิจัยให้องค์การฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ หนังสือที่เขาเขียนเรื่อง Forsaken: The Persecution of Christians in Today’s Middle East ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ O/R Books ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

แหล่งข่าว https://www.mgronline.com/around/detail/9640000102363