จับทิศทีวีดิจิทัลปี 65 เปิดศึกคอนเทนต์ข่าวชิงโฆษณาหมื่นล้าน

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ทีวีดิจิทัลฝากความหวังปี 65 ไปกับคอนเทนต์ข่าว ฟันธงโอกาสโกยเม็ดเงินโฆษณาสูงเฉียด 10,000 ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ทั้งช่องหลักช่องรองพร้อมวางหมากส่งคอนเทนต์ข่าวชิงชัยเรตติ้งกันเป็นแถว เหตุพฤติกรรมผู้ชมนิยมดูรายการสด แต่ไม่จำเป็นต้องดูผ่านทีวี พร้อมไลฟ์สดเหตุการณ์เอง สอดคล้องแอปฯ ดัง ‘ติ๊กต็อก’ ที่จุดติดเพราะคอนเทนต์ข่าวในปี 64 จนมียอดแฮชแท็ก #ข่าวTikTok สูงถึง 1.1 พันล้านวิว

สถานการณ์โควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของทางนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า ในปี 2564 ผู้บริโภคให้เวลากับสื่อถึง 9.32 ชม.ต่อวัน แบ่งเป็น 1. ใช้เวลากับทีวี 4.10 ชม.ต่อวัน, 2. อินเทอร์เน็ต 3.45 ชม.ต่อวัน และ 3. วิทยุ 1.37 ชม.ต่อวัน โดยในส่วนของทีวีนั้น จะรับชมรายการย้อนหลังเพิ่มขึ้นถึง 69% และการรับชมแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

กลับมาที่คอนเทนต์ข่าวนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2558 ผู้บริโภคมีทางเลือกในการดูเพียงช่องทางทีวีและยูทูบเป็นหลัก แต่ปัจจุบันสามารถหารับชมได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทีวี, โซเชียลมีเดีย และกลุ่มคนที่ไลฟ์สดเองเพื่อบอกต่อ ซึ่งพบว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มาแรงในเวลานี้ คือ ติ๊กต็อก และอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางนีลเส็นพบว่าปัจจุบันผู้ใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกหันมาเล่นเพื่อรับข่าวสารที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุดมากขึ้น และสำนักข่าวต่างๆ ก็ใช้ติ๊กต็อกเพื่อเข้าถึงผู้ชมและค้นหาเรื่องราวต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน

โดย 3 อันดับแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดในติ๊กต็อกคือ 1. #ข่าวTikTok 1.1 พันล้านวิว 2. #TikTokUni 901 ล้านวิว และ 3. #คนไทยเป็นคนตลก 570 ล้านวิว จากปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวในเซาท์อีสต์เอเชียกว่า 240 ล้านคน และมีวิดีโออัปโหลดกว่า 800 ล้านวิดีโอต่อเดือน

 

**ปี 65 ลุ้นคอนเทนต์ข่าวทะลุหมื่นล้าน**
จากกระแสการตื่นตัวของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์ข่าวเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่ออัปเดตเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 การรับชมข่าวสารต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ในปี 2564 พบว่าคอนเทนต์ข่าวมีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านบาท กล่าวคือ สินค้าและแบรนด์พร้อมซื้อโฆษณาและสนับสนุนในคอนเทนต์รายการข่าวเป็นอันดับ 2 เป็นรองก็แค่คอนเทนต์ละครที่ยังครองบัลลังก์เป็นอันดับหนึ่งของผู้ชมไม่เคยเปลี่ยน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า จากที่ประเมินว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2564 จะจบที่ 74,550 ล้านบาท โดยสื่อทีวีมีมูลค่า 37,369 ล้านบาท และเฉพาะสื่อทีวีถ้ามาจากคอนเทนต์ข่าวจะมีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 24% จากตัวเลขทีวีทั้งหมด เทียบเท่ากับปี 2563 ทั้งเม็ดเงินและส่วนแบ่งที่ 24% เท่าเดิม

ส่วนในปี 2565 คาดว่าจะขยับขึ้นอย่างน้อยเป็น 9,600 ล้านบาท ตามงบประมาณโฆษณาของสื่อทีวีที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 คาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณารวมเติบโต 2 หลักเป็นเรื่องไม่ยาก เบื้องต้นประเมินไว้ประมาณ 13% หรือราว 84,250 ล้านบาทโดยประมาณ โดยทีวีจะมีสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่งที่ 47.5% รองลงมาคืออินเทอร์เน็ต 32% และอันดับสามคือ OHM 12.9%

 

**ส่องช่องทีวีดิจิทัล ชูคอนเทนต์ข่าวโกยเรตติ้ง**
ในปี 2565 การแข่งขันของทีวีดิจิทัลจะมุ่งไปทางคอนเทนต์ข่าวมากขึ้น เห็นได้จากแผนการปรับผังใหม่รับปี 2565 ของหลายๆ ช่องที่เริ่มขยับตัวกันไปบ้างแล้วในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ททบ.5 ที่สร้างความคึกคักให้กับทีวีดิจิทัลอย่างมากจากช่วงไตรมาสสี่ที่ประกาศตัวขอหวนกลับมาแข่งขันในธุรกิจทีวีอีกครั้ง กับการสร้างเรตติ้งในคอนเทนต์ข่าว ด้วยการดึงทีมผู้ประกาศข่าวดังจากทางเนชั่นมาโผล่ที่ช่อง 5

พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กล่าวในครั้งนั้นว่า แผนการปรับรายการข่าวครั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนหันมาดูรายการข่าว ททบ.5 มากขึ้น ภายใต้แนวคิดในปี 2565 ที่ ททบ.5 จะเป็นสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

ทำให้เมื่อปลายปี 64 ล่าสุด ททบ.5 ร่วมกับทางบริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (GMC) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตข่าว ททบ.5 ปี 2565 ร่วมกัน โดยดึง นายกนก รัตน์วงศ์สกุล, นายธีระ ธัญไพบูลย์, นายสันติสุข มะโรงศรี และ นายสถาพร เกื้อสกุล 4 พิธีกรข่าวเข้ามาเสริมทัพ ซึ่งทาง ททบ.5 จะมีรายได้จากรายการข่าวปีละ 65 ล้านบาท ถ้าดีก็ต่อสัญญาต่อไป โดยรายการข่าวใหม่ครั้งนี้จะเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ภายใต้สัดส่วนกลุ่มรายการเนื้อหาสาระ 70% และบันเทิง 30% ที่ ททบ.5 ได้วางไว้

 

ด้าน นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ททบ.5 ครั้งนี้มุ่งเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนในรูปแบบของรายการข่าว โดยเน้นข้อเท็จจริงรอบด้านผ่านผู้ประกาศข่าวที่มากด้วยประสบการณ์ เชื่อว่าในแง่เรตติ้งกลุ่มรายการข่าว ททบ.5 จะขึ้นเป็นท็อป 3 และในภาพรวมช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดจะทำให้ ททบ.5 ขึ้นเป็นท็อป 10 ได้เช่นกันในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนี้

สำหรับรายการข่าวที่เป็นความร่วมมือครั้งนี้จะนำเสนอ 7 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบด้วย 1. ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ รายการข่าวเช้า เวลา 06.00-07.00 น. 2. รายการข่าวเที่ยง เวลา 12.00-14.00 น. 3. รายการข่าวค่ำ เวลา 18.00-20.00 น. 4. ข่าวภาคดึก เวลา 20.30-22.30 น. และ 5. รายการศาสตร์แห่งสยามวันละ 2 นาที นอกจากนี้ยังมี 2 รายการวาไรตีที่จะนำเสนอในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้แก่ รายการลายกนกยกสยาม และรายการ ณ ครับ ซึ่งจะออกอากาศในช่วงเวลา 16.00-17.00 น.

ตามมาอีกช่อง คือ PPTV โดยการปรับผังรายการปี 2565 จะให้น้ำหนักคอนเทนต์ข่าวเกือบ 50% ภายใต้ 3 ทหารเสือ อย่าง เสถียร วิริยะพรรณพงศา, สุทธิชัย หยุ่น และกรุณา บัวคำศรี

โดยนายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 กล่าวว่า ช่อง PPTV ให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์รายการข่าวอย่างหนักตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และในปี 2565 จะยกระดับข่าวให้เป็นระดับสากลมากขึ้น โดยจะยังคงให้น้ำหนักกับคอนเทนต์ข่าว หรือจะมีคอนเทนต์ข่าวราว 40% หรือเกือบครึ่งของผังรายการทั้งหมด ภายใต้โจทย์การตีความ “เรื่องข่าว เรื่องใหญ่” ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่มีคำว่าข่าวต่างประเทศอีกต่อไป พร้อมส่งคอนเทนต์ข่าวเข้าถึงทุกแพลตฟอร์ม และเข้าถึงผู้ชมฐานรากหญ้าได้มากขึ้น

 

โดยทาง PPTV ยังได้ นายสุทธิชัย หยุ่น มาทำหน้าที่ที่ปรึกษากองบรรณาธิการข่าว และดำเนินรายการ 2 รายการ คือ มองข้ามช็อต และกาแฟดำ ทุกคืนในช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวค่ำ รวมถึง กรุณา บัวคำศรี ดำเนินรายการ รอบโลก Daily ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 20.30-21.30 น. และทุกวันศุกร์ เวลา 20.15-20.45 น. พร้อมทั้งนั่งตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ที่จะมีช่วงรายการใหม่ คือ รอบโลก Express รูปแบบรายการเหมือน รอบโลก Daily แต่จะนำเสนอในช่วงเวลากลางวัน โดยทีมข่าว PPTV ที่ประจำอยู่ต่างประเทศจะรายงานข่าวเข้ามา ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 3 คนประจำอยู่ใน USA เยอรมนี และไต้หวัน อนาคตจะเพิ่มในอีกหลายๆ เมืองสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ล่าสุดสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ก็เปิดโฉมหน้าทีมผู้อ่านข่าวชุดใหม่อีกระลอก ต้อนรับปี 2565 เสริมทัพผังรายการข่าวระลอกใหม่ มุ่งตอกย้ำคอนเซ็ปต์การนำเสนอข่าวเพื่อประชาชน “เรื่องข่าว เรื่องใหญ่” ดึงผู้ประกาศข่าวใหม่มาเสริมทีมข่าวพีพีทีวี ได้แก่ กระแต-ทิวาพร และ อาร์ม-พงศธร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ข่าวมากขึ้น กับ 3 ช่วงข่าว “เที่ยงทันข่าว” “เข้มข่าวเย็น” และ “เข้มข่าวค่ำ”

ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 11.00-12.45 น. ข่าวทุกเหตุการณ์ ทันทุกกระแส ใน “เที่ยงทันข่าว” พบกับ จอย-ชื่นจิต เจริญพงศ์ชัย กับ อาร์ม-พงศธร ลอตระกูล คู่ข่าว คู่ใหม่ ที่จะมาเล่าข่าวแบบทันต่อเหตุการณ์พร้อมรายงานข่าวสดที่ส่งตรงจากพื้นที่ จากนั้น ช่วงเย็นพบกับ 2 ผู้ประกาศข่าวสาวคู่ใหม่ กระแต-ทิวาพร เทศทิศ คู่กับ เฟิร์น-สุชาดา นิ่มนวล ใน “เข้มข่าวเย็น” ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 16.30-18.00 น. ส่วนรายการ “เข้มข่าวค่ำ” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00-20.15 น. กับสองผู้ประกาศหนุ่ม เอก-เอกพร ศณีสุขทวีรัตน์ และ ปึก-ปวัน สิริอิสสระนันท์ ซึ่งจะมาเล่าข่าวเข้มข้นรอบค่ำ ทันทุกกระแส ซึ่งรายการข่าวโฉมใหม่เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 ม.ค. 65 ทางพีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 และทางออนไลน์ www.pptvhd36.com แอปพลิเคชัน PPTV HD 36

ในส่วนของช่องใหญ่อย่าง ช่อง 3 และช่อง 7 นั้น มีการขยับและให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์ข่าวกันมาสักพักแล้วในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการที่ช่อง 7 ได้ทางบริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มาร่วมผลิตรายการต่างๆ ให้ อย่างคอนเทนต์ข่าว คือ รายการ ถกไม่เถียง ที่เรตติ้งขยับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางช่อง 3 ได้สรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมานั่งอ่านข่าวเช้าอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ ในส่วนของช่องไทยรัฐทีวี เป็นอีกช่องหนึ่งที่ต้องยอมรับว่ามีความแข็งแกร่งทางด้านคอนเทนต์ข่าวสูงมาก และมีการปรับทัพรายการข่าวช่วงปลายปี 2564 เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้เวลารายการ ข่าวใส่ไข่ เพิ่มจาก 1ชม. เป็น 1.15 ชม. และการดึงกระเต็น-วราภรณ์ สมพงษ์ มานั่งอ่านข่าวเย็น ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงอัมรินทร์ทีวี ที่เพิ่มสัดส่วนรายการข่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แน่นอนว่า ช่องรองจะใช้กลยุทธ์ชูคอนเทนต์ข่าวเพื่อสร้างเรตติ้งและรายได้ ซึ่งมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ช่องหลักเองก็ต้องป้องบัลลังก์เรตติ้งรายการข่าวกันอย่างสุดกำลัง สุดท้ายการที่ผู้ประกาศข่าวหรือผู้สื่อข่าวกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือบุคคลที่ทรงอิทธิพล เป็นที่รู้จัก และเข้าถึงประชาชน ก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ทีวีดิจิทัลเลือกใช้ โดยตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา คอนเทนต์ข่าวได้สร้างให้ผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าวเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นหลายคน

ดังนั้นในปี 2565 เชื่อว่าจะเป็นอีกปีที่น่าจะเห็นคนข่าวหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ไม่แพ้อินฟลูเอนเซอร์ทางด้านอื่นๆ เช่นกัน

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business