กลุ่ม JMART แตกไลน์-โตไม่หยุด แผนผนึกทุนใหญ่หนุนธุรกิจติดปีก

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ส่องอาณาจักร “เจ มาร์ท” ของกลุ่ม “สุขุมวิทยา” นับวันยิ่งโตต่อเนื่อง หลังแตกไลน์ธุรกิจ และการผนึกพันธมิตรรายใหญ่ร่วมลงทุน หนุนผลประกอบการและราคาหุ้นติดปีก จากปัจจุบัน 4 บริษัทในตลาดหุ้นมีมาร์เกตแคปแล้ว 1.91 แสนล้านบาท โบรกฯ ประสานเสียง “ซื้อ” หุ้น JMART ให้ราคาเป้าหมาย 65-75 บาท

ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตที่น่าสนใจ สำหรับกลุ่ม “เจมาร์ท” หรือบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยตระกูล “สุขุมวิทยา” ด้วยสัดส่วนถือหุ้นรวมกันกว่า 46.59% เพราะนับว่าธุรกิจแต่ละธุรกิจที่ตัดสินใจเดินหน้าล้วนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของกลุ่มโดยเฉพาะข่าวการร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และกลุ่มทุนจากตลาดประเทศ ในการดำเนินธุรกิจการเงิน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่านี่จะเป็นกุญแจสำคัญทำให้สัดส่วนรายได้ทางธุรกิจของ JMARTในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมที “เจ มาร์ท” ดำเนินธุรกิจแรกคือขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนเมื่อปี 2531 ด้วยเงินลงทุน 2 ล้านบาท จากนั้นก็เติบโตจนเป็นที่จับตา เมื่อเข้ามาดำเนินธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในปี 2535 จากนั้นขยายตัวก่อตั้งบริษัท JMT Network Services เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน และ JAS Asset รุกตลาดบริหารพื้นที่ และอสังหาริมทรัพย์ ในเวลาต่อมา

โดยปี 2552 บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเมื่อเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) ในปี 2558 พร้อมกับการลงทุนในธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม จนนำไปสู่การประกาศปรับโครงสร้างองค์กรเป็น “Holding Company” ในปีถัดมา

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ JMART น่าจะนิยามได้ว่า “โตไม่หยุด” เพราะไม่ใช่แค่ JMART เพียงบริษัทเดียวของทั้งกลุ่มที่เติบโตอย่างศักยภาพ แต่บริษัทลูกในกลุ่มหลายธุรกิจก็เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จนสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ตาม Holding Company ที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) เป็นผู้ให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินทั้งในส่วนที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพและรับจ้างติดตามหนี้ครอบคลุมทุกประเภท และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบัน กลุ่ม “เจ มาร์ท” มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทังหมด 4 บริษัท โดยมีมาร์เกตแคป รวมเฉียดระดับ 2 แสนล้านบาท (1.91 แสนล้านบาท) แบ่งเป็น JMART อยู่ที่ระดับ 78,786 ล้านบาท ถัดมา JMT มีมาร์เกตแคป 76,591 ล้านบาท SINGER มีมาร์เกตแคป 31,204 ล้านบาท และ J มีมาร์เกตแคป 4,515 ล้านบาท

โดย JMART ถือครองหุ้นใหญ่ใน JMT ด้วยสัดส่วน 53.91% ขณะที่ SINGER บริษัทถือครองหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 53.91% และ J บริษัทถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 66.07% ขณะที่ผลดำเนินงานในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 798 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากปี 2562 มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจ แม้จะเกิดขึ้นในปีที่โรค COVID-19 ระบาด รวมถึงครึ่งแรกของปี 2021 ยังมีกำไรสุทธิเติบโต 113%

ส่วนสำคัญมาจากการเติบโตผ่านกลยุทธ์ Synergy ครบวงจร จากการมีหลายธุรกิจ ครบถ้วนทั้งค้าปลีก, การเงิน และเทคโนโลยี ทำให้บริษัทนำธุรกิจต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น การจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของบริษัท สามารถผ่อนชำระในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านบริษัทลูกของกลุ่มได้

นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในธุรกิจขนส่ง เพื่อขยายโอกาสการทำตลาดได้เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าเดิม และอาศัยการ Synergy กับธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตด้วยตัวเองดูท่าจะดังไม่พอ ทำให้กลุ่ม “เจ มาร์ท” จึงเริ่มกลยุทธ์ดึงพันธมิตรเข้าร่วมธุรกิจเพื่อให้การเติบโตนั้นติดปีกบินสูงยิ่งขึ้น โดยดีลใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาหนีไม่พ้น ดีลระหว่าง JMART กับ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) (VGI) และ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) (U) ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่าง BTS Holding ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเดินรถไฟฟ้า การร่วมในการบริหาร BRT, สนามบินอู่ตะเภา และมอเตอร์เวย์สายนครราชสีมา รวมถึงธุรกิจ MIX ที่ต่อยอดจากระบบคมนาคม เช่น Kerry Express, VGI และ PlanB กับธุรกิจ Match ที่เน้นโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการสองกลุ่มธุรกิจใหญ่ Synergy ร่วมกันจะช่วยต่อยอดธุรกิจของ JMART เติบโตได้ในอีกหลากหลายช่อง

สำหรับบริษัทชั้นนำภายใต้กลุ่ม BTS จะเข้าลงทุนในบริษัทของกลุ่ม JMART จำนวนทั้งสิ้น 17,500 ล้านบาท แบ่งเป็น “ยู ซิตี้” จะเข้าลงทุน 24.9% ใน SINGER เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นหน่วยธุรกิจทางการเงินของกลุ่ม BTS นอกจากนี้ “ยู ซิตี้” และ VGI ยังเข้าร่วมลงทุนใน JMART เป็นจำนวนรวมกว่า 10,400 ล้านบาท โดย U ถือหุ้นในสัดส่วน 9.9% และ VGI ถือหุ้นในสัดส่วน 15.0% อีกด้วย

และผลจากดีลดังกล่าว ทำให้คาดว่า SINGER จะได้รับเงินจาก PP และ RO จำนวนทั้งสิ้น 10,600 ล้านบาท เพื่อขยายฐานการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ นอกจากนี้ เงินดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับการจ่ายคืนหุ้นกู้ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย โดย SINGER ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็น 15,000 ล้านบาทในปี2565 ขณะที่ JMT ประกาศเพิ่มทุนแบบ RO ระดมทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มฐานทุนในการขยายการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันเป็นเบอร์ 1 บริษัทบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในประเทศ

“อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART แสดงความเห็นว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกับ VGI และ U City บริษัทในกลุ่มบีทีเอสในครั้งนี้ ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญของกลุ่ม JMAR T โดยบริษัทได้ ผนึกกำลังร่วมกับผู้นำที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้าน Offline-to-Online (O2O) โซลูชั่นส์ ที่มีธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และ ธุรกิจโลจิสติกส์ ผสานด้านความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น การร่วมเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกฐานเงินทุนของบริษัทให้เพิ่มขึ้น และสร้างการเติบโตผ่านซินเนอร์ยีร่วมกัน

ทั้งนี้ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าในการใช้เงินผ่านการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ และลดต้นทุนทางการเงิน โดยเชื่อมั่นว่า JMART มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอที่จะสามารถสร้างประสิทธิภาพในการเติบโต แม้ว่าจะประสบกับสถานการณ์ที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยปัจจุบันมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมของกลุ่มบริษัทมีกว่า 106,822 ล้านบาท คาดจะเติบโตไปกว่านี้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า

ไม่เพียงเท่านี้นอกจากธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นแล้ว การเพิ่มทุนครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของกลุ่ม JMART ด้วยต้นทุนการเงินที่ลดลงของ SINGER และ JMT จะสะท้อนกลับมาที่ JMART ในแง่ของกำไรที่โดดเด่น โดย JMART ตั้งเป้าภาพรวมกำไรเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ต่อปี ต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งยังไม่นับรวมการผนึกพันธมิตรต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า JMT จะร่วมทุนกับ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จัดตั้งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งทั้งสองบริษัทก็ไม่ปฏิเสธประเด็นดังกล่าว โดยในส่วนของ JMT ชี้แจงว่า บริษัทฯ ยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกับพันธมิตรเกี่ยวกับการร่วมทุน แต่ยังมิได้มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ล่าสุด JMART เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติให้บริษัทเข้า ทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL และ SINGER โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่นผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่าย และการจัดหาสินเชื่อ โดยกลุ่มธุรกิจในเครือของบริษัททั่วประเทศ สำหรับสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่นรวมถึงพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชง ผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายของกลุ่มธุรกิจในเครือของบริษัท รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเรื่องศูนย์กัญชงกัญชาเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังพัฒนาการร่วมลงทุนให้การลงทุนติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า และโอกาสการขายไฟฟ้าร่วมกัน ภายใต้เครือของกลุ่มธุรกิจเจมาร์ท และการลงทุนทางด้าน EV Charging Station และศึกษาความเป็นไปไได้ Synergy ด้านอื่นเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องการศึกษาเรื่อง Utility Token เพื่อนำมาปรับใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ทั้งนี้ การลงทุนร่วมกันดังกล่าว GUNKUL จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50% ขณะที่ JMART ถือหุ้นสัดส่วน 40.1% และ SINGER ถือหุ้น 9.9% โดยมีเงินลงทุนขั้นต้น 1 ล้านบาทและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในไตรมาส 1 ปี 2565

สำหรับการ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการแลกหุ้น (สวอปหุ้น) ระหว่างกัน มูลค่า 500 ล้านบาท และในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะแลกหุ้นอีก 500 ล้านบาท พร้อมกันนี้คาดว่าในช่วงเดือนก.พ.ปี 2565 จะสามารถเปิดแผนธุรกิจใหม่นี้ได้

“เรามองเห็นว่า ธุรกิจพลังงานสะอาดและกัญชงเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และอยู่ในความสนใจของผู้บริโภค การที่ JMART และ SINGER เข้ามาจับตลาดนี้จึงถือเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจและการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยมี GUNKUL ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง เข้ามาต่อจิ๊กซอว์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเดินหน้าทางธุรกิจร่วมกัน ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ด้วยวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน และเราจะเป็นผู้นำรายแรกๆ ที่นำดิจิทัลโทเคนมาปรับใช้ในธุรกิจพลังงานและกัญชงได้ คาดจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในต้นปีหน้า” อดิศักดิ์ กล่าว

สิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ JMART ยังมีแผนนำ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเทคโนโลยี สารสนเทศ (บริษัทในเครือของ JMART) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในอนาคต โดยปัจจุบันทาง JVC มีทุนจดทะเบียนเกือบ 200 ล้านบาท และมีแผนเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทยเป็นครั้งแรก โดยปัจจุบันทาง JMART ถือหุ้นใน JVC อยู่ที่มากกว่า 60% และคาดน่าจะสามารถเข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหรือราวปี 2566-2567

“การที่ JVC มีแผนออกแพลตฟอร์ม NFT เป็นเจ้าแรกของไทยในเร็วๆ นี้นั้นบริษัทมองถือเป็นผลบวก เพราะช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยสร้าง ผลตอบแทนให้กับทาง JMART ในฐานผู้ถือหุ้นในระยะยาวด้วย” นายอดิศักดิ์กล่าว

โบรกฯ ประสานเสียง “ซื้อ”JMART

ส่วนมุมมองต่อทิศทางธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมอง Positive ต่อบมจ.เจมาร์ท (JMART) จากการประกาศอนุมัติจัดตั้ง JV ระหว่าง JMT และ KBANK โดยเป็นบวกทั้งในแง่ต้นทุน และการแข่งขัน และเป็นการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมเน้นเข้าประมูล โดยได้ปรับประมาณการปี 65-66 ขึ้นเฉลี่ย 2% เป็น 1.96 พันล้านบาท (+54% y-y) และ 2.6 พันล้านบาท (+32% y-y) จากการปรับประมาณการกำไรของ JMT ขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% จากสมมติฐานการซื้อหนี้ที่สูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4/64 เติบโตเด่นจากทุกกลุ่มธุรกิจในเครือเข้า High season โดยปรับมูลค่าพื้นฐานปี 65 ขึ้นเป็น 60 บาท จากเดิม 53 บาท จากการปรับมูลค่าพื้นฐาน JMT ขึ้นเป็น 75 บาท และ คงคำแนะนำ Trading Buy

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ หนุนด้วยเงินทุนโดยมี JMT เป็นตัวหลัก ขณะที่ยังมี upside risk จาก Synergy ร่วมกับ BTS และ GUNKUL รวมถึงกระแสตอบรับของ JFIN Coin

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) วิเคราะห์หุ้น บริษัทเจ มาร์ทหรือ JMART ทั้งนี้ JMART, JMT และ SINGER เพิ่มทุนเรียบร้อย โดยทั้งเครือระดมทุนมาได้ 3.3 หมื่นล้านบาท (1.2 ล้านบาทสำหรับ JMART, 1.1 หมื่นล้านบาทสำหรับ SINGER และ 1 หมื่นล้านบาทสำหรับ JMT) ทำให้รักษาอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไปได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งจากการผนึกพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (เครือ BTS)เพื่อขยายฐานลูกค้า, เพิ่มแพลตฟอร์ม e-commerce, สร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ & พัฒนาใช้สกุลเงินดิจิทัลในระบบนิเวศที่ใหญ่ขึ้น, และโอกาสในการหาพันธมิตรตั้ง JV ภายใต้ JMT

นอกจากนี้ JMART มีแผนแตกไลน์ธุรกิจในปี 2565 ได้แก่ 1.) ตั้งบริษัทใหม่”J-Elite” เพื่อบริหารจัดการการแลกคะแนนสะสม ผ่านการนำ Jfin coinมาใช้เพื่อเป็นส่วนลด/แลกซื้อสินค้า IT ของเครือ JMARTและกำลังขยายไปสู่กลุ่มของ BTS ในปีหน้า 2.) เร่งขยายธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลภายใต้ KBJ รวมถึงให้ KBJ ทำสินเชื่อการซื้อสินค้าของร้านJ-Mobile เราคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตรากำไรของJ-Mobile เพิ่มขึ้น โดยมาร์จิ้นของ J-Mobile ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้กำไรสุทธิของ JMART เพิ่มขึ้น 4-5%

ขณะเดียวกัน การเติบโตของ JMT จะมาจากการซื้อสินทรัพย์ และการตั้ง JV ร่วมกับธนาคารเพื่อสร้างผลตอบแทนพิเศษจากธุรกิจ AMC ขณะที่ศักยภาพการเติบโตของ J-Mobile จะมาจากรายได้ และมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น รายได้ของ J-Mobile โต 14% YoY ในงวด 9M64 แต่กำไรสุทธิโตถึง >300% เป็น 137 ล้านบาท เนื่องจากสัดส่วน SG&A/รายได้ลดเหลือ 12.5% (จาก 14% ในปี 2563) จากการเปลี่ยนช่องทางการจำหน่าย ในระยะต่อไปคาดว่าการผนึกพันธมิตรกับ BTS จะช่วยให้สินค้าขายของ J-mobile ดีขึ้น ช่วยหนุนให้กำไรดีขึ้น เราคาดว่ากำไรสุทธิของ J-mobile ในปี 2564 จะอยู่ที่ 210 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 320/430 ล้านบาทในปี 2565/2566

ทำให้ปรับประมาณการ JMART เพื่อสะท้อนถึงการปรับประมาณการของ JMT (คิดเป็นสัดส่วน 60% ของกำไรรวมของ JMART) และ J-mobile (17%) โดยคาดว่าธุรกิจใหม่จาก J-Elite และ fintech & การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลจะสร้างมูลค่าให้บริษัทจากโครงสร้างบริษัทแบบโฮลดิ้งที่เพิ่มความคล่องตัวการเติบโตที่แข็งแกร่งหลังจากผนึกพันธมิตรกับ BTS, ธุรกิจของ JV ที่ตั้งร่วมกับ Kookmin Bank (เกาหลี) ที่เร่งตัวขึ้น, และการผนึกพันธมิตรใหม่ของ JMT เราจึงปรับราคาเป้าหมายใหม่ที่ 65 บาท (จากเดิม 48 บาท) สะท้อนการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีที่เกินกว่า 50% และยังคงคำแนะนำซื้อ JMART

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket